ทุ่งสังหาร หรือ แผ่นดินของใคร - 1984 [7.9]



    วันที่ออกฉาย: 2 พฤศจิกายน 2527 (นครนิวยอร์ก)
    ประพันธ์ดนตรีโดย: ไมค์ โอลด์ฟิลด์
    บทภาพยนตร์: บรูซ โรบินสัน
    รางวัลที่ได้: รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม,
    รางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง: รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,

    เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 สาธารณรัฐเขมรทำสงครามกลางเมืองต่อต้านกลุ่มเขมรแดง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแทรกซึมตามเส้นทางโฮจิมินห์ของเวียดกงในสงครามเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ชาวเขมร เดินทางมารอรับซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์เดียวกัน ที่สนามบินโปเชนตงในกรุงพนมเปญ แต่ด้วยเที่ยวบินที่ล่าช้าไป 3 ชั่วโมงและเกิดเหตุด่วนขึ้น ปรานจึงรีบออกไปหาข่าวและไม่ได้อยู่รอรับชานเบิร์ก หลังจากนั้นเมื่อชานเบิร์กเข้าพักที่โรงแรมแล้ว ปรานจึงเข้ามาบอกข่าวกับชานเบิร์กว่า เครื่องบินบี-52 ของอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่เมืองเนียะเลือง (ในเขตจังหวัดเปรยเวง) ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นฐานที่มั่นของเขมรแดง ทั้งสองจึงหาทางไปทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุ โดยลักลอบเดินทางไปด้วยเรือของตำรวจน้ำ ณ ที่นั้น ทั้งสองได้พบกับสภาพเมืองที่ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อทั้งสองจะถ่ายภาพไปลงประกอบข่าว ทหารของรัฐบาลจึงขัดขวางไม่ให้พวกเขาถ่ายรูปและจับกุมตัวไปสอบสวน และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นานเมื่อกองทัพสหรัฐฯ นำเฮลิคอปเตอร์พานักข่าวมาทำข่าวตามที่ฝ่ายรัฐบาลและอเมริกาได้จัดฉากไว้เพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่เนียะเลือง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชานเบิร์กรู้สึกหัวเสียเป็นอย่างมาก

    2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2518 กรุงพนมเปญใกล้จะเสียให้แก่ฝ่ายเขมรแดง สหรัฐอเมริกาจึงสั่งปิดสถานทูตของตนเอง และดำเนินการอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ในกัมพูชา ชานเบิร์กได้ช่วยเหลือในการอพยพปรานและครอบครัวไปอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ตัวชานเบิร์กนั้นต้องการจะติดตามดูเหตุการณ์จนถึงที่สุด ปรานจึงตัดสินใจไม่ไปสหรัฐอเมริกา และอยู่ช่วยชานเบิร์กทำข่าวต่อไป แม้จะเสียใจที่ต้องพลัดพรากกับครอบครัวก็ตาม หลังจากนั้นกองทัพเขมรแดงสามารถเข้ามาในกรุงพนมเปญได้ ขณะที่ทั้งชานเบิร์กและปรานไปทำข่าวการฉลองชัยชนะและสันติภาพของเขมรแดงนั้น พวกเขาได้พบกับอัล ร็อกออฟ และจอน สเวน ผู้เป็นเพื่อนนักข่าวชาวต่างประเทศ ทั้งสองได้พาปรานกับชานเบิร์กไปดูอีกด้านหนึ่งของกรุงพนมเปญในวันนั้น ซึ่งยังคงปรากฏการฆ่าฟันโดยฝ่ายเขมรแดงอยู่ และขณะที่พวกเขาไปสำรวจโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้บาดเจ็บจากสงครามจำนวนมาก ก็ถูกทหารเขมรแดงจับกุมขึ้นรถเอพีซีไปยังที่แห่งหนึ่ง ปรานได้พยายามเจรจากับหัวหน้ากลุ่มทหารเขมรแดงอยู่นานหลายชั่วโมง เพื่อขอให้ปล่อยตัวนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนจนสำเร็จ

    หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว ปรานและกลุ่มนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนกลับมาในเมืองอีกครั้ง ทั้งหมดเก็บข้าวของของตนเองจากโรงแรมออกมาเท่าที่จะทำได้ และออกนอกเมืองตามคำสั่งของเขมรแดง ซึ่งสั่งให้ชาวเขมรในเมืองทุกคนทิ้งเมืองและอพยพไปสู่ชนบท โดยพวกเขาไปอยู่รวมกันที่สถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวต่างประเทศทั้งหมดและชาวเขมรที่ต้องการลี้ภัยมาอยู่รวมกัน กลุ่มของชานเบิร์กพยายามหาทางช่วยให้ปรานสามารถอพยพออกจากกัมพูชาได้ โดยสเวนช่วยทำหนังสือเดินทางปลอมของอังกฤษ ส่วนชานเบิร์กกับร็อกออฟช่วยถ่ายรูปปรานสำหรับติดบัตร โดยใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ในสถานทูต แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากรูปถ่ายของปรานใช้การไม่ได้ ปรานจึงต้องอยู่ในกัมพูชาต่อไปภายใต้การปกครองของเขมรแดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    หลายเดือนผ่านไป หลังจากชานเบิร์กออกมาจากกัมพูชาแล้ว ชานเบิร์กได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของปราน ซึ่งอพยพจากกัมพูชามาก่อนหน้านั้นและพำนักอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และพยายามขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ ทั่วโลกในการตามหาปราน ส่วนปรานนั้นกลายเป็นแรงงานเกณฑ์ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเขมรแดงอันเลวร้าย (ในเรื่องนี้รัฐบาลเขมรแดงถูกอ้างถึงด้วยคำว่า "อังการ์") ต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นแสนสาหัส และต้องแกล้งทำตัวเป็นคนไม่รู้หนังสือ เพื่อเอาตัวรอดจากคำสั่งฆ่าผู้มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูทางชนชั้นของรัฐบาล เขาเกือบเสียชีวิตจากการลงโทษและถูกทรมานเพราะแอบดูดเลือดจากคอวัวกินเนื่องจากทนความอดอยากไม่ไหว โชคยังดีที่เขาได้รับการปล่อยตัว ปรานจึงพยายามลอบหนีออกจากค่ายกักกันที่เขาอยู่ แต่ก็ถูกเขมรแดงจับตัวได้ที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบกับหลุมศพของคนที่ตายจากการถูกเขมรแดงทรมานและสังหารด้วยข้อหาทรยศชาติจำนวนมากด้วย

    ที่สหรัฐอเมริกา ชานเบิร์กได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการทำข่าวสงครามกลางเมืองในกัมพูชา เขากล่าวว่าความสำเร็จทั้งหมดที่ได้รับนั้นมาจากความช่วยเหลือของปรานด้วย ในงานเลี้ยงคืนนั้น ชานเบิร์กได้เจอกับร็อกออฟขณะเข้าห้องน้ำ เขาโทษว่าชานเบิร์กไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางช่วยเหลือปรานออกมาจากกัมพูชา คำพูดนี้ทำให้ชานเบิร์กทุกข์ใจมาก และโทษตัวเองว่า ปรานยังอยู่ในกัมพูชาก็เพราะเขาต้องการให้ปรานอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นแก่ตัว

    ที่กัมพูชา หลังจากปรานถูกจับกุมตัวอีกครั้ง เขาก็ได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกชายของพัด หัวหน้าเขมรแดงของหมู่บ้านที่ควบคุมตัวปรานไว้ ปรานยังคงแสร้งทำเป็นคนไม่รู้หนังสือ แต่พัดนั้นมองออกว่าปรานเป็นคนมีความรู้ และทำอุบายให้ปรานเผลอแสดงตัวออกมาว่าเขามีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม พัดเห็นว่าสถานการณ์ของรัฐบาลเขมรแดงเลวร้ายลงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในพรรคและการรุกรานของเวียดนาม เขาจึงฝากลูกชายไว้ให้ปรานดูแลก่อนที่จะถูกสังหารในเวลาต่อมา จากการขัดขวางไม่ให้ทหารเขมรแดงสังหารคนของตนเองเมื่อกองทัพเวียดนามใกล้จะรุกเข้ามาถึงหมู่บ้านของพัด ท่ามกลางความสับสนหลังการเข้ามาของกองทัพเวียดนาม ปรานพาลูกชายของพัดและนักโทษชายคนอื่นๆ อีก 4 คน หลบหนีออกจากกัมพูชาโดยมุ่งขึ้นไปทางชายแดนตอนเหนือ ระหว่างทางเพื่อนร่วมทางสามคนได้แยกกันไปอีกทางหนึ่ง ส่วนนักโทษที่เหลือกับลูกชายของพัดเสียชีวิตจากกับระเบิดที่ฝังไว้ในป่า ปรานจึงรอดชีวิตจนมาถึงศูนย์ผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเพียงคนเดียว

    ด้านชานเบิร์กนั้น เมื่อรู้ข่าวว่าปรานยังมีชีวิตอยู่และเขาปลอดภัยดี เขาจึงรีบแจ้งข่าวให้ครอบครัวของปรานรู้ และรีบเดินทางมาประเทศไทย เพื่อพบกับปรานที่ค่ายผู้อพยพตรงชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 อันเป็นเวลา 4 ปีให้หลังจากการลาจากในเหตุการณ์พนมเปญแตกครั้งนั้น
    [id]ตัวอย่าง;https://www.youtube.com/watch?v=2ru0HxV4nWY|ดูเต็มเรื่อง;http://dubth.gl/0c0B0B0yPq7AOpOm3VmY3RlR0bkVXaGc|[/id]

    โพสต์ล่าสุด